การซ่อมแซมบ้านเรือนอาคารที่ถูกไฟไหม้
ปัญหาอัคคีภัยนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อครับ ที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่เห็นกันบ่อย ๆ ก็น่าจะเป็นอาคารบ้านเรือนนั่นหละครับ ซึ่งถ้าไม่เกิดขณะที่กำลังก่อสร้างอยู่ก็เกิดในช่วงที่มีการก่อสร้างเสร็จและมีการเปิดใช้งานแล้ว ดังนั้นความเสียหายที่ตามมาก็ย่อมไม่เหมือนกัน
บ้านที่เกิดปัญหาไฟไหม้ขณะที่กำลังอยู่ในช่วงก่อสร้างนั้น มาจากหลายสาเหตุ เช่น การทิ้งก้นบุหรี่ขณะที่ยังไม่ได้ดับไฟ ความประมาทในการใช้ไฟประกอบการทำกิจวัตรประจำวัน และในขณะการดำเนินการก่อสร้างอยู่นั้นมีวัสดุที่สามารถเป็นฉนวนให้เกิดการติดไฟได้ง่าย ประเภทเศษกระดาษ เศษไม้ หรือเศษถุงพลาสติก เป็นต้นครับ แต่เนื่องจากการก่อสร้างอาจจะยังไม่ดำเนินการไปมากนัก เรื่องความเสียหายก็ยังไม่มากเท่าไหร่ แต่สำหรับบ้านหรืออาคารที่มีการดำเนินการสร้างเสร็จแล้วนั้น จะได้รับความเสียหายมากกว่า เนื่องจากการลุกลามของไฟจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและขยายตัวเป็นบริเวณกว้างเพราะ มีการตกแต่งลงรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว เช่น การติดตั้งผ้าม่าน ทาสี เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องตกแต่งบ้านอื่นๆ อีกมาก สาเหตุที่ทำให้บ้านที่มีการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยเกิดไฟลุกลามเป็นบริเวณกว้างนั้น ก็มาจาก การลุกลามของไฟโดยลุกลามผ่านทางพรมปูพื้น, ผ้าม่าน, ปล่องหรือช่องต่างๆ หรือทางท่อลมสำหรับเครื่องปรับอากาศ เป็นต้นครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านหรืออาคารที่ไม่มีอุปกรณ์ดับเพลิงหรือสัญญาณเตือนเวลาเกิดไฟไหม้ก็มักจะไม่สามารถดับไฟได้อย่างทันท่วงที ยิ่งได้รับความเสียหายหนักที่สุดครับ
บ้านหรืออาคารที่ถูกไฟไหม้ ถ้าหากจะซ่อมแซมใหม่ต้องดูให้ดี ๆ ก่อนนะครับ ว่าบริเวณใดที่เสียหายมาก เสียหายน้อย และหากซ่อมแซมไปแล้วนั้น จะทำให้อยู่ได้อย่างคงทนถาวรเหมือนเมื่อก่อนได้หรือไม่ก็ต้องพิจารณาเปรียบเทียบให้ดีว่าระหว่างการซ่อมแซมเพื่อใช้งานต่อกับการทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่นั้นอย่างไหนจะคุ้มกว่ากันถ้าเป็นไปได้ควรปรึกษาผู้รู้โดยเฉพาะวิศวกรที่มีความชำนาญครับ
จุดแรกที่ควรได้รับการสำรวจหลังจากเกิดไฟไหม้สำหรับอาคารบ้านเรือน คือ บริเวณเสาและคานที่อยู่เหนือตำแหน่งที่เกิดไฟไหม้ เป็นเวลานานครับ รวมถึงพื้นที่อยู่ในบริเวณนั้นด้วย เช่น พื้นคอนกรีต หากเกิดไฟไหม้ในชั้นที่ 4 พื้นส่วนที่อยู่ด้านใต้ของชั้นที่ 5 ก็จะได้รับความเสียหายไปด้วยครับ ดังนั้นก่อนการลงมือซ่อมแซมจึงต้องมีการวัดการโก่งตัวของจุดต่างๆ ที่ถูกไฟไหม้โดยการทดสอบกำลังของแผ่นพื้นคอนกรีต จากการใช้เครื่องตรวจสอบคอนกรีต หรือที่บรรดาช่างมักจะเรียกว่า เครื่องยิงคอนกรีต เพื่อดูว่ากำลังของคอนกรีตนั้นตกลงไปบ้างหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นเสาบ้านหรือเสาอาคาร ก็อาจใช้วิธีการตรวจสอบด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ (Ultrasound Test) ก็ได้ครับ ในส่วนที่ถูกไฟไหม้โดยตรง และได้รับความเสียหายมากกำลังในการรับน้ำหนักคอนกรีตมักจะต่ำลง ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ของวิศวกรผู้เชี่ยวชาญที่ท่านจะพิจารณาถึงวิธีการ ซ่อมแซมอย่างไรถึงจะเหมาะสมกันต่อไปครับ ในบางกรณีก็อาจจะต้องอาศัยวิธีการคำนวณตรวจสอบการรับน้ำหนักจริงของโครงสร้างหรืออาจจะเสริมโครงสร้างก็สามารถทำได้ และถ้าหากยังคงปลอดภัยอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ก็ไม่ต้องถึงกับทุบทิ้งแล้วสร้างขึ้นใหม่ก็ได้ครับ
ในส่วนต่อไป ก็คือ การนำเหล็กเสริมคอนกรีตไปทดสอบหากำลังสูงสุด ซึ่งโดยปกติแล้วนั้น เหล็กเสริมที่มีคอนกรีตหุ้มหนา ๆ มักจะถูกกระทบกระเทือนน้อย และสามารถใช้ต่อไปได้ แต่ก็ต้องมีกำลังสูงพอด้วยครับ ส่วนคอนกรีตอัดแรง ประเภทที่ไม่ยึดติดกับลวด โดยมีท่อหรือกระดาษหุ้มอยู่ ต้องตรวจสอบที่วัสดุห่อหุ้มหรือแรงดึงลวดว่ามีการเคลื่อนตัวทำให้คอนกรีตสูญเสียแรงอัดไปหรือเปล่า เพราะนั่นคือ สาเหตุสำคัญที่ทำ ให้แผ่นพื้นเกิดการพังลงมาได้ครับ
การสำรวจความเป็นไปได้ก่อนการซ่อมแซมโดยวิศวกรผู้มีความรู้ความชำนาญนั้น นับเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่กำลังประสบกับปัญหา ความเสียหายจากเหตุการณ์ไฟไหม้ เพราะจะทำให้ทราบว่าควรจะซ่อมแซม ตรงไหน อย่างไรบ้างและก็ไม่ต้องเสี่ยงกับการซ่อมแซมที่ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปด้วยครับ
- Hits: 575