ฐานราก คือ ส่วนที่ติดกับหัวเสาเข็ม รับน้ำหนักจากเสาถ่ายสู่เสาเข็ม ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมาก ๆ เนื่องจากเป็นส่วนที่อยู่ใต้ดิน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็จะถูกฝังลงใต้ดิน หากเกิดความผิดพลาดใด ๆ จึงเช็คหรือตรวจสอบได้ยาก ฉะนั้นทางที่ดีควรทำให้ถูกต้องตามหลักเทคนิคช่างเป็นดีที่สุด โยเราสามารถแบ่งฐานรากเป็นประเภทใหญ่ ๆ คือ
ในการทำฐานรากเรา ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ตั้งแต่การเลือกใช้ฐานรากตามสภาพของดิน ควรใช้วัสดุก่อสร้างตามแบบวิศวกรรมโดยเคร่งครัด ไม่ตัดลดขนาดลงโดยเด็ดขาด ปูนที่ใช้ทำฐานรากต้องใช้ปูนโครงสร้าง (Portland cement) ซึ่งแม้จะมีราคาแพงกว่าปูนฉาบก็ตาม แต่มีความแข็งแรงกว่าปูนฉาบ จำไว้ว่า ควรประหยัดอย่างถูกต้องครับ มิฉะนั้นแล้ว จะเป็นการประหยัดแบบชั่วคราวเท่านั้นเอง เพราะหากฐานรากของท่านทรุดตัวแล้วย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากมายแก่บ้านของท่าน ทั้งยากต่อการแก้ไขด้วยครับ
อัตราส่วนของ ปูน : ทราย : หิน ที่ใช้ในงานฐานราก งานถนน คือ 1 : 2.5 : 4 ย้ำว่า ควรใช้ปูนโครงสร้างดังที่กล่าวมาแล้ว ตลอดจนมั่นใจว่าหินและทรายมีความสะอาดเพียงพอ มีความชื้นที่เหมาะสม
ในขั้นแรกนั้น ควรมีการเทคอนกรีตหยาบทับหน้าดิน ก่อนเทควรมีการทำความสะอาดเสาเข็ม และใช้ไฟเบอร์ตกแต่งเข็มให้ได้ระดับเสียก่อน แล้วเทคอนกรีตหยาบให้เสาเข็มโผล่พ้นคอนกรีตหยาบประมาณ 5 ซม. เพื่อให้มั่นใจว่าฐานรากของท่านได้นั่งถ่ายแรงลงบนเสาเข็ม การเทคอนกรีตหยาบนั้นก็เพื่อเป็นท้องแบบวางตะแกรงเหล็กฐานราก หลังจากนั้นใช้ลูกปูนหนุนตะแกรงเหล็ก ทั้งด้านล่างและด้านข้าง (ประมาณ 5 ซม.) เพื่อให้ปูนสามารถหุ้มเหล็กได้ทั้งหมด
ก่อนการเทควรทำให้พื้นที่ที่จะเทมีความชุ่มชื้น ป้องกันดินดูดน้ำจากคอนกรีต ซึ่งจะทำให้คอนกรีตลดความแข็งแรงลง อีกทั้งต้องทำความสะอาดตรวจเช็คให้แน่ใจก่อนการเทว่า ไม่มีคราบโคลน หรือคราบปูนทราย ที่หลุดง่ายติดอยู่ ในระหว่างการเทต้องมีการกระทุ้งคอนกรีตด้วยมือ หรือใช้เครื่องสั่น (VIBRATOR) ป้องกันไม่ให้เกิดโพรงหรือช่องว่างในเนื้อคอนกรีต ในฐานรากบ้านของท่านครับ
มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงพอจะตรวจสอบดูแลงานฐานรากของบ้านท่านได้นะครับ พึงสังวรไว้ว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" ครับผม