ตรวจสอบเสาเข็มตอก และเสาเข็มเจาะด้วยตัวเอง
วันนี้ขอพาท่านผู้อ่านมาดูการวิบัติเนื่องจากการใช้วัสดุที่ไม่ได้คุณภาพหรือมีคุณภาพต่ำกว่าที่กำหนดครับ
วัสดุที่เราจะพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักในวันนี้คือเสาเข็มครับ ในทางปฏิบัติ เราควรตรวจคุณภาพเสาเข็มตั้งแต่ตอนที่ยังวางก่ออยู่กับพื้น โดยตรวจสอบการคด รอยร้าว รอยแหว่ง และการชำรุดอื่น ๆ ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ด้วยตาเปล่า นอกจากนั้นควรทดสอบกำลังอัดของคอนกรีตเสาเข็มว่าตรงกับรายการคำนวณที่เสนอมาพร้อมกับการขออนุญาตใช้เสาเข็มนั้นหรือไม่ โดยใช้วิธี “HAMMER TEST”
หากพบว่าเสาเข็มนั้นมีคุณภาพต่ำหรือมีการชำรุดมากก็ควรคัดออกเสียแต่แรกกระนั้นก็ตามในการตอกเสาเข็มยังอาจหักหรือแตกได้ หากวิศวกรเห็นว่าเสาเข็มนั้นไม่ปลอดภัยในการรับน้ำหนักอาคารก็ควรถือเป็นเสาเข็มเสียและให้เสริมเสาเข็มทดแทนต้นนั้น ทั้งนี้ต้องระวังให้ศูนย์ถ่วงของกลุ่มเสาเข็มทับกับศูนย์กลางของเสาเพื่อให้เสาเข็มรับน้ำหนักเฉลี่ยเท่า ๆ กันทุกต้น
ผมอยากย้ำว่าเรื่องเกี่ยวกับเสาเข็มและงานฐานรากแล้วไม่ควรเสี่ยงเป็นอันขาดครับ และนี่ก็คือวิธีสำรวจคุณภาพของเสาเข็มชนิดตอก อันดับต่อไปผมจะพาท่านผู้อ่านมาทำการสำรวจเสาเข็มชนิดเจาะหล่อในที่ครับ
ในกรณีที่เป็นเสาเข็มชนิดเจาะหล่อในที่ซึ่งโดยทั่วไปบรรดาช่างมักเรียกสั้น ๆ ว่าเข็มเจาะ หากท่านไม่มั่นใจในคุณภาพของเข็มก็ควรตรวจสอบความสมบูรณ์ของเสาเข็มที่หล่อแล้วว่ามีความหนาแน่นสม่ำเสมอมีโพรงหรือรอยร้าวหรือไม่ มีส่วนไหนบ้างที่เกิดเป็นคอคอด หรือส่วนไหนคอนกรีตมีคุณภาพต่ำหรือได้ความลึกตามกำหนดหรือไม่โดยปรกติในการก่อสร้างบ้านพักอาศัยมักจะใช้เข็มชนิดเจาะหล่อในที่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 35 เซนติเมตร จะมีความลึกอยู่ในช่วง 19 - 21 เมตน อันเป็นชั้นทราย โดยประมาณครับ {mosimage} วิธีตรวจสอบง่ายๆ และใช้กันมากที่สุดคือ วิธี Seismic Test เริ่มด้วยการเคาะหัวเสาเข็มด้วยค้อน คลื่นที่เกิดจากการเคาะจะวิ่งลงไปสู่ปลายเสาเข็มแล้วสะท้อนกลับ หากเสาเข็มมีคุณภาพดีคลื่นที่ปรากฏในจอภาพจะเป็นเส้นตรงหรือหยักบ้างแต่สม่ำเสมอ แต่ถ้ามีรอยร้าวเป็นโพรงหรือเป็นคอคอดคลื่นจะสะท้อนกลับที่รอยร้าวนั้นเป็นรูปหยักเป็นระยะหากปรากฏสิ่งผิดปรกติในกราฟที่ถ่ายรูปไว้จากจอภาพจะต้องให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญอ่านกราฟนั้นและทำการวินิจฉัยว่าจะเป็นสาเหตุอาจจะก่อให้เกิดความวิบัติมากน้อยเพียงใด หากเสียหายเพียงเล็กน้อยก็อาจไม่ต้องแก้ไขใด ๆ แต่ถ้าเสียหายมากเกินไปก็อาจจะต้องแซมเสาเข็ม ถ้าหากไม่มีพื้นที่พอที่จะแซมก็จะต้องซ่อมเสาเข็มต้นนั้นซึ่งกระทำได้โดยการเจาะเสาเข็มจนถึงรอยที่ชำรุดโดยผู้ชำนาญการเฉพาะแล้วอัดฉีด น้ำปูนข้นให้เต็มรูพรุน หรือโพรง หรือรอยร้าวแล้วแต่กรณี
- Hits: 751