ความสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็ม
ทุกขั้นตอนของการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนก็คือ การวางรากฐานเพื่อความมั่นคง แต่ถ้าการวางแผนระบบงานก่อสร้าง ไม่ได้มาตรฐานตั้งแต่แรกผลที่ตามมาอาจไม่ใช่เฉพาะ การเสียเวลา หรือ เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเท่านั้น หากมีเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดเกิดขึ้นจนถึงขั้นแก่ชีวิต นั่นหมายถึง การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ที่ใครก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นครับ
แต่ในขั้นตอนของการก่อสร้างนั้น ส่วนหนึ่งที่สำคัญและเป็นสิ่งที่ช่างหรือนักออกแบบควรให้ความสำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่น ๆ ก็คือ การตอกเสาเข็มครับ โดยเฉพาะความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากการตอกเสาเข็มในช่วงที่ปลายเสาเข็มเริ่มเข้าสู่ชั้นดินแข็ง นอกจากต้องมีความระมัดระวังกับตัวอาคารที่กำลังมีการก่อสร้างแล้ว ต้องระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดกับอาคารใกล้เคียงด้วย หากอาคารใกล้เคียงเหล่านั้นมีการก่อสร้างที่ใช้เสาเข็มสั้นเกินไปหรือบางแห่งอาจไม่ได้ใช้เสาเข็มเลยก็ว่าได้ ซึ่งปรกติแล้วอาคารที่มีการก่อสร้างโดยไม่ได้ใช้เสาเข็มก็มีความเสี่ยงต่อการทรุดตัวของอาคารอยู่แล้ว หากได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างในบริเวณใกล้เคียงเข้าไปด้วย ก็จะเร่งอัตราการทรุดตัวให้เร็วขึ้นกว่าเดิม หรือหากมีการทรุดตัวอยู่บ้างแล้วก็จะเพิ่มการทรุดตัวที่มากกว่าเดิมทันที เป็นผลให้เกิดรอยร้าวตามผนังของอาคารบ้านเรือน ดังที่เคยเห็นกันโดยทั่วไป ดังนั้นเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากความสั่นสะเทือนเหล่านี้ ก่อนการก่อสร้างที่ต้องมีการตอกเสาเข็มทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยทั้งในด้านการก่อสร้างและความปลอดภัยของอาคารบ้านเรือนที่อยู่ใกล้เคียง ช่างก่อสร้างหรือสถาปนิก จึงควรใช้วิธีการขุดคู หรือ ตอก Sheet หรือกระทำทั้งสองอย่าง คั่นระหว่างอาคารที่กำลังจะสร้างรวมทั้งอาคารเก่าที่อยู่ใกล้เคียงด้วยครับ
ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนทั้งที่เกิดก่อนการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้างหรือผลกระทบหลังการก่อสร้าง หากมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ไม่อาจจะกล่าวสิ่งใดออกมาได้แต่หากเป็นปัญหาที่เกิดจากความประมาทของช่างหรือสถาปนิกก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจเหมือนกันครับ ดังนี้ความรอบคอบหรือไม่ประมาทเอาไว้ให้มากที่สุดก็จะช่วยลดปัญหาความวิบัติที่เกิดจากการทรุดตัวของอาคารบ้านเรือนได้มากทีเดียวครับ
- Hits: 614