คนจะสร้างบ้านควรรู้ : ใครเป็นใครในงานก่อสร้าง
ฉบับที่แล้ว แฟนๆคงมีความรู้เรื่องการตรวจสอบที่ดินในเบื้องต้นไปแล้ว ฉบับนี้จึงอยากนำเสนอกับเกี่ยวกับผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานก่อสร้าง โดยทั่วไปจะมีอยู่ประมาณ 5 ฝ่ายด้วยกัน ทั้งนี้อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของงาน
ฉบับที่แล้ว แฟนๆคงมีความรู้เรื่องการตรวจสอบที่ดินในเบื้องต้นไปแล้ว ฉบับนี้จึงอยากนำเสนอกับเกี่ยวกับผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานก่อสร้าง โดยทั่วไปจะมีอยู่ประมาณ 5 ฝ่ายด้วยกัน ทั้งนี้อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของงาน ความยากง่าย และงบประมาณในการก่อสร้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เจ้าของงาน ที่ปรึกษา ผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงานหรือจัดการงานก่อสร้าง และผู้รับเหมา ซึ่งแฟนจะได้ทราบบทบาทและหน้าที่ของฝ่ายต่างๆมากขึ้น ดังต่อไปนี้
เจ้าของงาน (Owner) นับได้ว่าเป็นผู้ที่กุมอำนาจไว้หลายอย่าง เป็นต้นว่า เรื่องเงินๆทองๆ คำมั่นสัญญา การตัดสินใจ ซึ่งถ้าหากเกิดความไม่แน่ใจหรือตัดสินใจไม่แน่นอนไม่ชัดเจนแล้ว ผลเสียหายที่เกิดขึ้นย่อมกระทบถึงผู้รับจ้างฝ่ายต่างๆนั่นเองครับ เจ้าของงานที่ดีต้องกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ชัดเจนก่อนจัดหาผู้ออกแบบและควรเตรียมข้อมูลต่างๆให้ครบถ้วนหรือมากที่สุด แล้วแจ้งงบประมาณที่ต้องการใช้ให้ผู้ออกแบบทราบเพื่อให้ออกแบบอยู่ในงบประมาณ ต้องรับทราบค่าใช้จ่ายทั้งที่เกิดจากการว่าจ้างตามข้อตกลงและนอกเหนือข้อตกลง ต้องรักษาคำมั่นสัญญาและปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ที่สำคัญไม่เปลี่ยนแปลงความตั้งใจโดยไม่จำเป็นและไม่ก้าวก่ายงานในหน้าที่ของบุคคลต่างๆ เพื่อให้งานออกมาถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายครับ
ที่ปรึกษา (Consultant) สำหรับโครงการก่อสร้างที่มีมูลค่าสูงหรือสลับซับซ้อนมาก เจ้าของงานอาจจะต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาบริหารและเป็นที่ปรึกษาจนกระทั่งจบโครงการ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่ต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์ รอบรู้และตัดสินใจอย่างถูกต้อง ชี้แจงจุดคุ้มทุนต่อเจ้าของงานอย่างตรงไปตรงมาครับ
ผู้ออกแบบ(Design Team) คือผู้ที่เนรมิตความฝันของเจ้าของงานให้เป็นความจริงผ่านทางแผ่นกระดาษ ผู้ออกแบบต้องมีความรู้ ประสบการณ์ ความสามารถที่ถูกต้อง ออกแบบคุ้มค่ากับการลงทุน ประโยชน์ใช้สอย ถูกกฎหมาย มีความประณีตสวยงาม แข็งแรงและง่ายต่อการซ่อมแซม บำรุงรักษา ผู้ออกแบบที่ดีต้องออกแบบและเขียนแบบ จัดทำรายการก่อสร้าง (Specification) ประกอบแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ด้วยความรอบคอบ ถูกต้องตามหลักวิชาการและวัตถุประสงค์ของเจ้าของงาน ต้องชี้แจง เสนอแนะ รายละเอียดของแบบต่างๆและรายงานต่อเจ้าของงาน ที่ปรึกษา ผู้ควบคุมงาน ตลอดจนผู้รับเหมา เพื่อให้ปฏิบัติงานได้ถูกต้องและรวดเร็วนั่นเองครับ
ผู้ควบคุมงานหรือจัดการงานก่อสร้าง (Construction Manager) เป็นที่เจ้าของงานว่าจ้างให้ควบคุมดูแลงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบก่อสร้างและถูกตามหลักวิชาการ ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลคนเดียว(สำหรับงานขนาดเล็ก) หรือกลุ่มบุคคลหรือบริษัท(สำหรับงานขนาดใหญ่ มูลค่าก่อสร้างหลักสิบล้านขึ้นไป) โดยจะเป็นชุดเดียวกับผู้ออกแบบ หรือเป็นชุดเดียวกับที่ปรึกษาก็ได้ ผู้ควบคุมงานที่ดีต้องดูแลงานให้ดำเนินไปจนเรียบร้อย หากพบอุปสรรค ควรรีบประสานงานฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาวิธีแก้ไขทันที เพื่อให้งานคล่องตัว ราบรื่น ไม่ใช่รอให้ทำผิดแล้วจึงค่อยจับผิดภายหลัง ซึ่งนอกจากจะทำให้เสียหาย เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ของทุกฝ่าย
ผู้รับเหมา (Contractor) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างให้เป็นรูปร่างจริงขึ้นมามาจากแบบที่ปรากฏในแผ่นกระดาษ ซึ่งจะต้องสร้างให้สวยงาม ถูกต้อง แข็งแรงและทนทาน โดยทั่วไป ผู้รับเหมาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผู้เหมาหลักและผู้รับเหมาช่วง(ซึ่งรับงานต่อจากผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่ง) ผู้รับเหมาที่ดีต้องเสนอราคาก่อสร้างในการประกวดราคาด้วยความสุจริตและยุติธรรม ต้องตั้งใจปฏิบัติงานตามเงื่อนไขในสัญญาให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ให้ครบตามเงื่อนไขและมีคุณภาพตามกำหนดในรายการก่อสร้าง และต้องให้ความร่วมมือทุกฝ่าย เพื่อให้การก่อสร้างเสร็จตามเป้าหมายครับ
แฟนอาจจะสังเกตได้ว่า ทำไมต้องมีหลายฝ่ายขนาดนี้ จ้างผู้รับเหมาแล้วให้จัดการตั้งแต่ออกแบบจนก่อสร้างแล้วเสร็จไม่ได้หรือ สำหรับงานเล็กๆ 1-2 ล้านสามารถทำได้ครับ(แล้วที่ผู้รับเหมามักบอกว่าไม่คิดค่าออกแบบ เป็นไปไม่ได้ครับ เพราะอย่างไรก็ตามก็ต้องมีลายเซ็นต์ของวิศวกรและสถาปนิกในแบบอยู่แล้ว เขาเซ็นต์เองไม่ได้หรอกครับ ดังนั้นค่าออกแบบก็ต้องมีอยู่ดี แต่เขาจะบวกเพิ่มในค่าก่อสร้าง ซึ่งเจ้าของบ้านไม่รู้และมักจะนึกดีใจว่าสร้างบ้านได้ถูก) แต่สำหรับงานใหญ่ๆแล้วควรมีหลายฝ่ายเพื่อคานอำนาจและตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เจ้าของงานได้งานก่อสร้างที่ประหยัด มีประโยชน์ มีความประณีต และอยู่อย่างปลอดภัยนั่นเอง
ตีพิมพ์ในนิตยสาร Masterpiece เล่ม 3
- Hits: 834