แนวคิด

กฎกระทรวง ว่าด้วยเรื่อง การตรวจสอบอาคาร

law4

กฎกระทรวงว่าด้วยการตรวจสอบอาคาร
ด้วยมาตรา 32 ทวิ แห่ง พรบ.ควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้เจ้าของอาคาร ดังต่อไปนี้

 

(1) อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ
(2) อาคารชุมนุมคน
(3) อาคารตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคาร ทำการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของอาคาร ระบบและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ดังนั้นจะมีกฎกระทรวงรวม 2 ฉบับ ที่จะประกาศใช้บังคับต่อไปตามความในมาตรา 32 ทวิ


ฉบับที่ 1 กฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ ( กำลังใกล้จะประกาศบังคับใช้แล้ว )สาระสำคัญคร่าว ๆ คือ

กำหนดอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรม หรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรม แล้วแต่กรณี ตามมาตรา32 ทวิ คือ
(1)โรงมหรสพ
(2)โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ แปดสิบห้องขึ้นไป
(3)สถานบริการ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่สองร้อยตารางเมตรขึ้นไป
(4)อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่สองพันตารางเมตรขึ้นไป
(5)อาคารโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่มีความสูงมากกว่าหนึ่งชั้น และมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ห้าพันตารางเมตรขึ้นไป
(6)ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่สิบห้าเมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ห้าสิบตารางเมตรขึ้นไปหรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ยี่สิบห้าตารางเมตรขึ้นไป
เมื่อนับรวมแล้วจึงมีอาคาร 9 ประเภทที่จะต้องตรวจสอบตามกฎหมาย

ฉบับที่ 2 กฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียน และการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร( กำลังใกล้จะประกาศบังคับใช้แล้วเช่นเดียวกัน ) มีสาระสำคัญคร่าว ๆ คือ
คุณสมบัติเฉพาะและลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจสอบ
กรณีเป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีคุณสมบัติ
1.มีสัญชาติไทย
2.ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือสถาปัตยกรรม
3.ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจสอบอาคาร
4.ไม่เคยถูกเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบในเวลา 2 ปี
กรณีเป็นนิติบุคคล
1.ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
2.ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือสถาปัตยกรรม
3.สมาชิกในคณะผู้บริหารไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจสอบอาคาร
4.ไม่เคยถูกเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบในเวลา 2 ปี

หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร
1.ยื่นคำขอตามแบบท้ายกฎกระทรวงพร้อมหลักฐาน ต่อคณะกรรมการควบคุมอาคารผ่านสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร หรือ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด 2.คณะกรรมการ ฯ พิจารณาภายใน 30 วัน ถ้าเห็นควรให้ขึ้นทะเบียนจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอทราบ ให้จัดส่งสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัย
3.ประธานคณะกรรมการ ฯ ออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนให้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับสัญญา ประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัย
4.กรณีทีมติไม่รับขึ้นทะเบียนก็ต้องมีหนังสือแจ้งผู้ขอทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีมติ
การตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. การตรวจสอบใหญ่ ให้กระทำทุกๆ ห้าปี
2 การตรวจสอบประจำปี
การตรวจสอบใหญ่ทุกครั้งผู้ตรวจสอบต้องจัดให้มี
1.แผนปฏิบัติการการตรวจบำรุงรักษาอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร รวมทั้งคู่มือปฏิบัติการตามแผนให้แก่เจ้าของอาคารเพื่อเป็นแนวทางการตรวจบำรุงรักษาและการบันทึกข้อมูลการตรวจบำรุงรักษาอาคาร
2 แผนการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประจำปี รวมทั้งแนวทางการตรวจสอบตามแผนดังกล่าวให้แก่เจ้าของอาคารเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประจำปี
กรณีที่เป็นอาคารชุดให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและดำเนินการเพื่อตรวจสอบอาคารแทนเจ้าของห้องชุด
รายละเอียดที่ต้องตรวจสอบ
(1) การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ดังนี้
(ก) การต่อเติมดัดแปลงปรับปรุงตัวอาคาร
(ข) การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักบรรทุกบนพื้นอาคาร
(ค) การเปลี่ยนสภาพการใช้อาคาร
(ง) การเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างหรือวัสดุตกแต่งอาคาร
(จ) การชำรุดสึกหรอของอาคาร
(ฉ) การวิบัติของโครงสร้างอาคาร
(ช) การทรุดตัวของฐานรากอาคาร

(2) การตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร
(ก) ระบบบริการและอำนวยความสะดวก
(1) ระบบลิฟต์
(2) ระบบบันไดเลื่อน
(3) ระบบไฟฟ้า
(4) ระบบปรับอากาศ
(ข) ระบบสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม
(1) ระบบประปา
(2) ระบบระบายน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสีย
(3) ระบบระบายน้ำฝน
(4) ระบบจัดการมูลฝอย
(5) ระบบระบายอากาศ
(6) ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง
(ค) ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย
(1) บันไดหนีไฟและทางหนีไฟ
(2) เครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน
(3) ระบบระบายควันและควบคุมการแพร่กระจายควัน
(4) ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน
(5) ระบบลิฟต์ดับเพลิง
(6) ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้
(7) ระบบการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง
(8) ระบบการจ่ายน้ำดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง และหัวฉีดน้ำดับเพลิง
(9) ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
(10) ระบบป้องกันฟ้าผ่า
(3) การตรวจสอบสมรรถนะของระบบ และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร
(1) สมรรถนะบันไดหนีไฟและทางหนีไฟ
(2) สมรรถนะเครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน
(3) สมรรถนะระบบแจ้งสัญญาณเหตุเพลิงไหม้
(4 ) การตรวจสอบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคาร
( ก) แผนการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคาร
(ข ) แผนการซ้อมอพยพผู้ใช้อาคาร
(ค) แผนการบริหารจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาคาร
(ง) แผนการบริหารจัดการของผู้ตรวจสอบอาคาร

ขั้นตอนการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามกฎกระทรวง
1.เจ้าของอาคารประเภทตามที่กฎหมายกำหนด ต้องจัดหาผู้ตรวจสอบซึ่งขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมืองมาเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร
2. กฎหมายกำหนดให้เจ้าของอาคารต้องจัดหา หรือจัดทำแบบแปลนอาคารเพื่อใช้สำหรับการตรวจสอบ
3. ผู้ตรวจสอบทำการตรวจสอบอาคารครั้งแรกเป็นการตรวจสอบใหญ่
4. ผู้ตรวจสอบทำรายงานการตรวจให้เจ้าของอาคาร
5. เจ้าของอาคารต้องนำรายงานที่ผู้ตรวจสอบจัดทำ แจ้งท้องถิ่นให้ออกหนังสือรับรองการตรวจสอบอาคารทุกปี โดยจะต้องเสนอภายในสามสิบวันก่อนวันที่ใบรับรองการตรวจอาคารฉบับเดิมจะมีอายุครบหนึ่งปี

บทเฉพาะกาล

1.ให้เจ้าของอาคารประเภทที่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารตามกฎหมาย และเป็นอาคารที่ก่อสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี จัดให้มีการตรวจสอบอาคารใหญ่เป็นครั้งแรกให้แล้วเสร็จและเสนอรายงานผลการตรวจสอบให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในสองปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ

2.สำหรับอาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัยรวมพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป
(1). อาคารที่มีพื้นที่ไม่เกินห้าพันตารางเมตร ให้ได้รับการยกเว้นการจัดให้มีการตรวจสอบอาคารเป็นเวลาเจ็ดปีนับ
แต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ
(2).อาคารที่มีพื้นที่เกินห้าพันตารางเมตร ให้ได้รับการยกเว้นการจัดให้มีการตรวจสอบอาคารเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ

  • Hits: 570

ติดต่อเรา

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.