การวิบัติอันเกิดจากการตอกเสาเข็ม
ผมได้เคยกล่าวถึงผลกระทบจากการตอกเสาเข็มที่เกิดกับอาคารบ้านเรือนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงไปบ้างแล้ว ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบันปัญหาดังกล่าวได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีอาคารบ้านเรือนหลายแห่งที่ประสบกับปัญหาเหล่านี้มาแล้ว และยิ่งหากเป็นการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนที่ใหญ่โตขึ้นเพียงใด จำนวนฐานรากและเสาเข็มก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
ถ้าใช้เสาเข็มคอนกรีตชนิดตอกธรรมดาก็จะเกิดการเคลื่อนตัวของดินที่มากขึ้นตามลำดับ และอาคารบ้านเรือนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายมากที่สุด ก็คือ อาคารที่มีการใช้เสาเข็มต้นเดียวต่อฐานรากหนึ่งฐานโดยที่มิได้ใส่ Dowel Bar เพื่อยึดตอม่อให้ติดกับเสาเข็มเป็นชิ้นเดียวกัน ฉะนั้นเมื่อเสาเข็มเกิดการเคลื่อนตัวเพียงเล็กน้อยก็จะหลุดจากฐานรากและผลกระทบที่ตามมาก็คือการวิบัติที่เกิดขึ้นกับอาคารบ้านเรือนครับ สำหรับวิธีการแก้ไขหรือซ่อมแซมปัญหาดังกล่าวก็สามารถทำได้ แต่ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะตามขั้นตอนแล้วหากเกิดปัญหานี้ขึ้น ช่างหรือสถาปนิกจะต้องทำ Underpinning คือ การเสริมเสาเข็มใหม่ และต้องมีการดีดอาคารที่ยุบตัวนั้นให้ลงมาอยู่ในระดับเดิมคืนด้วยครับ ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างยุ่งยากหากไม้ชำนาญหรือไม่มีความรู้จริงก็อาจเกิดปัญหาต่าง ๆตามมาได้ ดังนั้นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด ที่สามารถทำได้เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ก็คือ ก่อนมีการตอกเสาเข็มทุกครั้ง สถาปนิกหรือวิศวกรควรมีการสำรวจ สภาพของอาคารบ้านเรือนในบริเวณใกล้เคียงซะก่อนครับ ว่ามีความแข็งแรงมั่นเพียงใด ที่สำคัญเสาเข็มที่อาคารบ้านเรือนในบริเวณใกล้เคียงใช้อยู่นั้นมีความสั้น ความยาวมากน้อยแค่ไหน มีฐานละกี่ต้น
หากสำรวจแล้วพบว่าการตอกเสาเข็มของอาคารบ้านเรือนที่กำลังจะก่อสร้างอยู่มีผลกระทบกับอาคารบ้านเรือนในบริเวณใกล้เคียงก็ควรจะใช้เสาเข็มชนิดเจาะหล่อในที่ หรือเสาเข็มชนิดอื่นที่เหมาะสมครับ และหากต้องการใช้เป็นเสาเข็มชนิดตอกก็ต้องหาวิธีการป้องกันความเสียหายเอาไว้ด้วยดังที่เคยกล่าวไปแล้วครับ เช่น การขุดคูหรือใช้เข็มพืด เป็นต้นครับ
- Hits: 797