บ้านร้าว สาเหตุบ้านร้าว
วันนี้ผมจะขอพูดถึงอายุของอาคารและสาเหตุของการวิบัติอันเป็นสาเหตุที่สำคัญในการทรุดร้าว ผมขอเรียกสั้น ๆ ว่า “บ้านร้าว” ครับ ซึ่งพบว่าเป็นปัญหาหนักอกสำหรับหลาย ๆ ท่าน สอบถามกันมามากมายหลายรายครับ จนนับได้ว่าเป็นปัญหายอดฮิตกันเลย แต่ละปัญหาก็มีความยากง่ายในการวิเคราะห์หาสาเหตุและวิธีการแก้ไขแตกต่างกันไปตามกรณีครับ
ในการออกแบบอาคารบ้านเรือนนั้นนอกจากจะต้องคำนึงถึงความแข็งแรงของโครงสร้างและความสะดวกสบายในการใช้สอยตัวอาคารแล้วยังต้องคำนึงถึงอายุการใช้งานของอาคารด้วยว่าใช้ได้นานเท่าใด ยกตัวอย่างเช่นหากเราสามารถสร้างบ้านที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 20-30 ปี โดยไม่ต้องมีการซ่อมแซมครั้งใหญ่นั้นถือว่าเป็นบ้านที่ช่วยท่านประหยัดเงินในกระเป๋าได้ไม่น้อยครับ แต่จะให้ดีและถือว่าประหยัดที่สุดคือ การออกแบบและสร้างให้อาคารมีอายุเกิน 50 ปี โดยไม่จำเป็นต้องซ่อมแซมใหญ่ ๆ โดยเฉพาะโครงสร้างแต่อย่างใด
นิยามคำว่า ”การวิบัติ” หรือที่ผมเรียกง่าย ๆ ว่า “บ้านร้าว” ในที่นี้หมายถึงการชำรุดของตัวอาคารบ้านเรือนหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวอาคารบ้านเรือนชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ฉะนั้นการที่พบว่าผนังก่ออิฐมีรอยร้าวเล็ก ๆ แต่ลายงาทั่วไปหรือมีรอยร้าวเดียวแต่ยาวไม่ได้หมายความว่าอาคารนั้นถึงแก่”การวิบัติ” เสมอไปครับ อาจเกิดจากความผิดพลาด ความมักง่ายของช่างในการก่อฉาบที่ไม่ถูกหลักวิธีก็เป็นได้ครับการร้าวที่โครงสร้างหลักของอาคารกับการร้าวของผนังมีสาเหตุแตกต่างกันและมีวิธีแก้ไขแตกต่างกันไปด้วยครับ
ณ. ตอนแรกของบ้านร้าวนี้ผมขอพูดให้อุ่นใจกันไว้ก่อนว่าบางปัญหาอาจไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่ท่านคิดก็เป็นได้นะครับ แต่ถ้าหากพบว่าปัญหาเรื่องร้าวเกิดกับบ้านของท่านแล้วก็อย่านิ่งนอนใจนะครับ
พูดไปแล้วหากจะแก้ไขปัญหาเรื่อง “บ้านร้าว” แบบขุดรากถอนโคนแล้วหล่ะก็ คงต้องหาสาเหตุและต้นตอให้พบเสียก่อนนะครับถึงจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างถาวร
การตรวจสอบหาสาเหตุของ”บ้านร้าว” ซึ่งปรกติรอยร้าวในบ้านหรือตัวอาคารนั้นเป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่าได้เกิดการชำรุดขึ้นแล้ว ณ ที่ใดที่หนึ่ง การชำรุดอาจเกิดในบริเวณที่พบรอยร้าวหรือเกิดที่ส่วนอื่นของอาคารแต่ส่งผลกระทบมาปรากฏให้เห็นรอยร้าวก็ได้ครับ ฉะนั้นในการซ่อมแซมการชำรุดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาสาเหตุให้พบเสียก่อน การซ่อมแซมแต่เพียงบริเวณรอยร้าวเป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้นครับ ตราบใดที่ต้นเหตุของการแตกร้าวไม่ได้รับการแก้ไขปัญหารอยร้าวที่รบกวนใจเหล่านั้นจะกลับมาทักทายคุณอีกแน่นอนครับ ยกตัวอย่างเช่น รอยร้าวที่เกิดจากการฉาบและการที่ช่างไม่ได้ทำการเตรียมปูนที่ฉาบให้ถูกต้องนั้นสามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้ปูนยิปซั่ม มายาแนวตรงรอยร้าว ก็เพียงพอแล้วแต่ ในขณะที่รอยร้าวที่เกิดจากการทรุดตัวไม่เท่ากันของฐานรากนั้นจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขที่ฐานรากเสียก่อนจึงจะมาแก้ไขที่รอยร้าว เป็นต้น
สาเหตุที่อาจทำให้เกิด”การวิบัติ” หรือทำให้”บ้านร้าว” สามารถจำแนกเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ได้ 6 ประการครับ
1. ความผิดพลาดในการออกแบบ ที่กำหนดขนาดและวัสดุต่าง ๆ ไม่เพียงพอต่อการรับน้ำหนักของอาคาร
2. ปัญหาการก่อสร้าง ที่ไม่ถูกหลักวิธี ทำให้ความแข็งแรงของอาคารน้อยกว่าที่น่าจะเป็น
3. ปัญหาฐานราก ซึ่งเกิดได้จากการผิดพลาดจากการคำนวณและการก่อสร้าง
4. แรงกระทำทางข้าง เป็นแรงที่วิศวกรผู้คำนวณมองข้ามไป เช่น แรงลม หรือเกิดจากเหตุสุดวิสัย เช่นแผ่นดินไหว การเคลื้อนตัวของชั้นดินเป็นต้นครับ
5. การกระทำทางกล ได้แก่แรงของเครื่องกลที่ติดตั้งไว้อาคารที่กระทำต่ออาคาร
6. ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ,การเปลี่ยนแปลงอันเกิดการปฏิกิริยาทางเคมีและจุลินทรีย์ อาทิเช่น ความชื้นการเกิดสนิม,คอนกรีตเสื่อมสภาพ,ความแตกต่างของอุณหภูมิ ความร้อนหนาว เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่อาจทำให้เกิด ”การวิบัติ” หรือ”บ้านร้าว” แฟน ๆ คนรักบ้านก็ลองกลับไปตรวจสอบบ้านของท่านดูว่ารอยร้าวที่เกิดขึ้นนั้น เกิดมาจากสาเหตุใด ก่อนมาดูกันว่ารายละเอียดของปัญหาในเรื่อง “บ้านร้าว” แต่ละประเภทเป็นอย่างไรกันบ้าง
- Hits: 913